ประวัติวัดร่ำเปิง
วัดร่ำเปิงตั้งอยู่เลขที่ 49/1 หมู่ที่ 6 ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ บน ถนนโชตนา (เชียงใหม่-ฝาง) กม.32/200 แยกเข้าซอย อยู่ในเขตปกครอง เจ้าคณะตำบลขี้เหล็ก เจ้าคณะอำเภอแม่แตง เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าคณะภาค 7 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 90 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ 3 แปลง เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา
อาณาเขต
ทิศเหนือติด โรงเรียนบ้านร่ำเปิง และหมู่บ้านร่ำเปิง
ทิศใต้ติด ลำธารแม่ขะจาน
ทิศตะวันออก ติดถนนเข้าหมู่บ้านแม่ขะจาน
ทิศตะวันตก ติดหมู่บ้านร่ำเปิง
เสนาสนะประกอบด้วย วิหาร อุโบสถ เจดีย์ วิหารไม้สักทอง กุฏิสงฆ์ หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ศาลาบำเพ็ญบุญ ห้องสมุด โรงครัว หอฉัน พิพิธภัณฑ์ ห้องน้ำ ศาลาพักร้อน หอกระจายข่าว พระพุทธรูปประจำวัด คือพระพุทธรูปปางรำพึง
วัดร่ำเปิงสร้างและตั้งขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัด จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาของผู้สูงอายุว่า สร้างมาประมาณ 400 ปีเศษ ซึ่งสันนิษฐานว่าจัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2085 และเดิมทีนั้นวัดนี้ตั้งอยู่ กลางที่ราบทุ่งหญ้า (ป้อมยามตำรวจปัจจุบัน) เมื่อ พ.ศ.2317 พม่าได้เผาทำลายบ้านเมือง และวัดวาอารามทั้งหมด คงเหลือซากปรักหักพัง และซากเจดีย์สูง 10 เมตร เมื่อเสร็จสงครามชาวบ้านคิดจะตั้งวัดขึ้นมาใหม่ได้พิจารณาเห็นว่าที่ดินแคบ และเป็นที่ลุ่มมีน้ำท่วมขัง จึงได้ตั้งวัดขึ้นใหม่ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2380 ณ บริเวณฝั่งลำห้วยแม่ขะจานสายเหนือ ซึ่งเป็นที่ดอน และห่างจากที่เดิม 200 เมตร ( ที่ตั้งวัดในปัจจุบัน ) ได้สร้างกุฏิ และศาลาขึ้น เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีพระธัมมะลังกา เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ในปี พ.ศ.2380-2438
ในปี พ.ศ. 2419 มีผู้นำชาวบ้านชื่อ พ่อหนานใจ (มัคนายก) ร่วมกับชาวบ้านได้สร้างกุฏิชั่วคราว แทนกุฏิหลังเก่าที่ชำรุด กับศาลาอีกหลังหนึ่ง ต่อมีในปี พ.ศ. 2435 ได้สร้างวิหารทำด้วยไม้
เจ้าอาวาสรูปที่ 2 พระด้วง พ.ศ.2438-2447 ได้สร้างกุฏิเป็นเรือนไม้ขึ้น
เจ้าอาวาสรูปที่ 3 พระแดง พ.ศ.2477-2459 ได้สร้างเจดีย์(พระธาตุ) ขึ้นหลังวิหาร ในช่วงนั้นศรัทธา ได้นิมนต์ ครูบาศรีวิชัย มาพักที่วัดหลายวัน
เจ้าอาวาสรูปที่4 พระคำฉลอง พ.ศ. 2459-2471 ได้สร้างกุฏิขึ้น 2 หลัง ทางด้านทิศเหนือ
เจ้าอาวาสรูปที่ 5 พระดวงจันทร์ รังแก้ว จากวัดแม่ขะจาน พ.ศ. 2471-2478 มีการจัดตั้งโรงเรียน ประชาบาลขึ้นที่วัด เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2474 โดยอาศัยเรียนใน ศาลาวัดชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลวัดร่ำเปิง
เจ้าอาวาสรูปที่ 6 พระดวงคำ คุณวโร จากวัดร้องแหย่ง พ.ศ. 2478-2482 ได้ย้ายโรงเรียน ไปทางทิศเหนือของวัด
เจ้าอาวาสรูปที่ 7 พระแดง จากวัดม่วงชุม พ.ศ.2482-2483
เจ้าอาวาสรูปที่ 8 พระโสภณ กาบแดง พ.ศ.2483-2484
เจ้าอาวาสรูปที่ 9 พระดวงแก้วจากวัดท่าตุ้ม พ.ศ.2484-2486
เจ้าอาวาสรูปที่ 10 พระอินตา บานใบ พ.ศ.2486-2488
เจ้าอาวาสรูปที่11 พระใฝ คำภีโร พ.ศ. 2488-2492
เจ้าอาวาสรูปที่ 12 พระประสิทธิ นาถบุญโญ พ.ศ. 2492-2495 ได้รื้อวิหารหลังเก่า
เจ้าอาวาสรูปที่13 พระนวลศรี นิภาธโร พ.ศ. 2495-2509 วัดได้สร้างวิหารต่อจนสำเร็จ ฉลองเดือนมีนาคม 2496
เจ้าอาวาสรูปที่ 14 พระณรงค์ พลประเสริฐ พ.ศ. 2509-2510
เจ้าอาวาสรูปที่15 พระปวง ภิรจิตโต พ.ศ.2510-2524 ได้สร้างกุฏิ 2 ชั้น เริ่มสร้างเมื่อ 2 มีนาคม 2512 ได้สร้างศาลาการเปรียญ ด้านทิศตะวันออก และใต้ประตูหน้าวัด พ.ศ.2522 สร้างกำแพงทิศตะวันออกและทิศใต้ ในปีนี้วัดได้ทำหลักฐานที่ดินของวัด ทางอำเภอได้ ออก น.ส.3 ก. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำนวน 2 แปลง พ.ศ. 2523 ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปบางรำพึง
เจ้าอาวาสรูปที่ 16 พระกองแก้ว กัลยาโน พ.ศ. 2524-2527 ได้สร้างศาลาด้านทิศเหนือ จำนวน 2 หลัง ปีต่อมาได้รับเงินอุดหนุน จากกรมการศาสนา สร้างโรงฉัน
เจ้าอาวาสรูปที่ 17 พระสนั่น สุรินโท พ.ศ. 2528- 2532 ทางวัดได้สร้างแท้งน้ำ ด้านทิศใต้ และบูรณะพระเจดีย์ ตุลาคม 2531 ได้ต่อเติมศาลาการเปรียญ
เจ้าอาวาสรูปที่ 18 พระบุญปั๋น โชติธมฺโม พ.ศ. 2532-2537 ได้สร้างวิหารหลังที่ 3 หลังปัจจุบัน
เจ้าอาวาสรูปที่ 19 พระอุดม พ.ศ. 2537-2543
เจ้าอาวาสรูปที่20 พระปลัดราเชนต์ พ.ศ.2544-2549
ปัจจุบัน มีพระครูมนัสเขมาภิรม เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ พ.ศ.2550 เป็นต้นมา ได้สร้างศาลาบำเพ็ญบุญขึ้น 1 หลัง ทางทิศตะวันตกของวัด พ.ศ.2551 สร้างอุโบสถ ขึ้นเพื่อทำสังฆกรรมขึ้น 1 หลัง สร้างกำแพงวัด ต่อเติมจากทิศเหนือจรดทิศตะวันตก ทั้ง 2 ด้าน ห้องน้ำ ห้องสุขา 20 ห้อง สร้างศาลาที่พักร้อนริมน้ำแม่ขะจาน ด้านทิศใต้จำนวน 2 หลัง สร้างน้ำตกจำลอง 1 แห่ง
พ.ศ. 2552 -2557 แกะสลักพระพุทธรูปไม้ตะเคียนทองปางรำพึง สูง ๑๒ ศอก วิหารไม้สักทอง สมุดอารยางกูร ห้องน้ำตอไม้เทียม สร้างโรงครัว หอฉัน พิพิธภัณฑ์ พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ รอบๆ บริเวณวัดสวยงามสะอาดร่มรื่น ให้เป็นแหล่งเรียนรู้
พ.ศ.2557-2563 จนได้รับโล่ วัดงามตาประชาซื่นใจ ของคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับโล่ อุทยานการศึกษา จากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้รับโล่ วัดส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อม ระดับดีเยี่ยม จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพย์กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม